อาการปวดขา อย่านิ่งนอนใจ อาจอันตรายถึงชีวิต

1197
อาการปวดขาสัณญานอันตราย

อาการปวดขา ปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ

     เมื่อพูดถึงเรื่องอาการปวดขาหลายคนคงส่ายหัวและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน  แต่คุณทราบหรือไม่ว่าเพียงแค่อาการปวดขาอาการเดียวก็บ่งชี้ถึงการเป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างอื่นได้อีกมากมาย  เนื่องจากขาเป็นอวัยวะที่ใช้ในการเดินและต้องเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆภายในร่างกายเป็นอย่างมาก ดังนั้น อาการปวดขาจึงสามารถแจ้งเหตุถึงการเป็นโรคชนิดอื่นได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยความไม่รู้และคาดไม่ถึงอาจทำให้พาลคิดไปว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ในวันนี้เราจะมาพูดถึงอาการปวดขาว่าส่อให้เห็นถึงโรคอะไรบ้าง

    ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์* วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลเจ้าพระยา ได้กล่าวถึงเรื่อง ปวดขา (Leg pain)ไว้ว่า อาการปวดขานั้นเป็นอาการที่พบได้บ่อยทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ซึ่งอาการปวดขนี้มักจะมีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่สาเหตุที่พบบ่อยนั้นก็คือปวดขาเนื่องจาก กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ การใช้งานกล้ามเนื้อขาเกินกำลัง มีการบาดเจ็บของ กล้ามเนื้อ เอ็น กระดูกขา (ได้แก่  กล้ามเนื้อฉีก เอ็นอักเสบ กระดูกขาร้าวจากการใช้งานเกินกำลังที่เรียกว่า Stress fracture) ปวดขาจากการเป็นจากโรคเบาหวาน(เนื่องจากเกิดการเสื่อมและการอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของขาเช่น เอ็นกล้ามเนื้อ ข้อกระดูก ประสาท และหลอดเลือด)  ปวดขาจากภาวะขาดเลือดเนื่องจากโรคหลอดเลือดแดงแข็งหรือปวดขาเพราะการคั่งของเลือดดำขาและการไหลเวียนโลหิตของขาไม่ดีจากโรคต่างๆ และอาการปวดขาเนื่องจากโรคหัวใจ ปวดขาจากปลายประสาทอักเสบจากโรคเบาหวาน ปวดขาจากภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำของขา รวมไปถึงปวดขาจากโรคปวดหลังจากหมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นต้น

ประเภทของอาการปวดขาเพื่อนำไปสู่วิธีการรักษาให้เหมาะสมได้ดังนี้

อาการปวดขาเนื่องจากการใช้งานของร่างกาย

  • อาการปวดขาเนื่องจากมีการใช้งานกล้ามเนื้อขาเกินกำลัง มีการบาดเจ็บของ กล้ามเนื้อ เอ็น กระดูกขา การใช้งานขามากจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการปวดขาได้ เนื่องจากมีภาวะการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อขาร่วมด้วย  แนวทางการรักษาคือให้คนไข้รับประทานยาแก้ปวด แก้อักเสบกล้ามเนื้อ และยา คลายกล้ามเนื้อ โดยยาเหล่านี้มักทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารจึงควรรับประทานยาทันทีหลังอาหารเพื่อป้องกันยาไปทำลายระบบทางเดินอาหารของร่างกาย และแพทย์อาจให้ใช้ยาทาภายนอกเพื่อบรรเทาอาการปวดขาร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะหายหลังจากมีอาการบาดเจ็บในระยะเวลาไม่นาน

    อาการปวดขาเนื่องจากการทำงานผิดปกติของร่างกาย

  • อาการปวดขาเนื่องจากกล้ามเนื้อขาเป็นตะคริว โดยตะคริว (Muscle cramps) หมายถึง อาการเกร็งตัวหรือหดเกร็งของกล้ามเนื้อลายทำให้มีอาการเจ็บปวดและเป็นก้อนแข็งที่กล้ามเนื้อ มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที่มีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง และจะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะจากนั้นจะทุเลาลงไปเอง ตะคริวสามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายโดยอาจเกิดขึ้นบางมัดหรือหลายๆมัดพร้อมกันก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขณะออกกำลังกาย และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดจากการเป็นตะคริว แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเนื่องจากไม่ได้ใช้งานนาน  ดังนั้นการป้องกันอาการปวดขาเนื่องจากตะคริวจึงควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายก็จะสามารถช่วยลดการเกิดตะคริวซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดขาลงได้
  • อาการปวดขาเนื่องร่างกายมีภาวะขาดน้ำ ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) คือ ภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จนทำให้อวัยวะต่างๆไม่สามารถทำงานตามปกติ เช่น โซเดียม (Sodium) โปแตสเซียม (Potassium) คลอไรด์ (Chloride ) ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) และแมกนีเซียม (Magnesium) โดยภาวะขาดน้ำมักพบเมื่อมีอาการท้องเสียรุนแรง และสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และในผู้สูงอายุ  ทำให้เกิดอาการปวดขาอย่างมาก แต่สามารถบรรเทาได้ด้วยการดื่มสารน้ำประเภทเกลือแร่  เช่น  เกลือแร่โออาร์เอสอาการก็จะทุเลาลง
  •  อาการปวดขาเนื่องจากโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน  หัวใจ  กระดูกทับเส้นประสาท  การปวดขาในโรคดังกล่าวนี้เกิดจากภาวะร่างกายมีความเสื่อมของเซลล์ต่างๆเนื่องมาจากภาวะถดถอยจากการเป็นโรคเหล่านี้ในระยะเวลานาน  ซึ่งส่วนใหญ่มักทำให้หลอดเลือดแดงและดำทำงานผิดปกติจนเกิดภาวะอุดตันบริเวณที่ขา  เมื่อเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้อย่างสะดวกจะเกิดอาการปวดเป็นอย่างมาก  จำเป็นต้องรักษาที่ต้นเหตุตามความเห็นของแพทย์เฉพาะทาง  แต่สามารถบรรเทาอาการของโรคได้ด้วยการควบคุมอาการของโรคที่เป็น  ด้วยการควบคุมอาหารไม่ให้น้ำหนักตัวมากเกินไป และการออกกำลังกายเบาๆตามความเหมาะสม

   จะเห็นได้ว่าอาการปวดขานั้นมีสาเหตุ  ดังนั้นแนวการรักษาจึงแตกต่างกันไปด้วยทั้งนี้เนื่องจากที่มาของโรคที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อมีภาวะปวดขาแล้วไม่ควรนิ่งนอนใจและคิดว่าจะหายเองแต่ควรรีบไปพบแพทย์ หากมีอาการปวดขาแต่ไม่ดีขึ้น  เนื่องจากอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงโรคต่างๆที่อันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้  

Citibank_Citi-Cashback-_ซิตี้แคชแบ็ก-2020.jpg