รู้เท่าทันอาการปวดคอ แก้ไขให้ถูกทาง ลดเสี่ยงกระดูกคอเสื่อม

52

การบรรเทาอาการปวดคอ สามารถทำได้หลากหลายวิธี

ด้วยในยุคปัจจุบันนั้น ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตต่างๆ การทำงาน การเรียน ส่งผลให้คอต้องรับบทหนักในการใช้งานมากขึ้น อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาเพื่อการใช้ชีวิต การทำงาน การเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งต้องก้มหน้าเงยหน้าอยู่บ่อยครั้ง หรือในบางอาชีพเช่น ช่างที่ต้องเงยหน้าตลอดเวลา ประกอบกับภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นจากการใช้สมองในเรื่องต่างๆ ที่มีมากขึ้น ส่งผลกระทบทำให้กล้ามเนื้อคอมีความผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดคอขึ้นได้

นอกจากคอจะเป็นอวัยวะที่บอบบางที่สุดแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆ ที่เชื่อมโยงมาจากสมองเพื่อไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย คอจึงเป็นอวัยวะสำคัญที่หากบาดเจ็บขึ้นมาไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม จึงควรดูแลโดยเร็วที่สุด และเมื่อเกิดอาการปวดคอขึ้นมาก็ควรรีบบรรเทารักษาให้หายโดยเร็วเช่นกัน ซึ่งเราสามารถบรรเทาให้หายอาการปวดได้ด้วยตนเองในกรณีที่ไม่ได้มีสาเหตุที่รุนแรงหรือเกิดจากโรค

ซึ่งอาการปวดคอนั้นจะมีอาการที่แสดงออกมา คือ มีอาการปวดที่คอ ร้าวลงมาที่บ่า ไหล่ หัวไหล่ สะบัก แขน ซึ่งบางคนอาจมีอาการชาเกิดขึ้นที่แขนหรือนิ้วมือร่วมด้วย เคลื่อนไหวคอไม่ถนัด ไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม ตึงๆ ขัดๆ หรือบางคนมีอาการกดเจ็บบริเวณท้ายทอยต้นคอด้วย

อาการปวดคอ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

1.การใช้กล้ามเนื้อที่คอนานเกินไป เช่น การก้มหน้านานๆ จากการจ้องจอโทรศัพท์มือถือ หรือนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป หรือการใช้หมอนหนุนสูงหรือต่ำเกินไป

2.ความเครียดที่เกิดจากปัญหาการทำงาน การใช้ชีวิต ครอบครัว หรือแม้กระทั่งการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดคอได้เช่นกัน เพราะกล้ามเนื้อบริเวณคอเกิดการหดเกร็ง

3.การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่บริเวณคอเร็วและรุนแรงเกินไป ทำให้เกิดอาการคอเคล็ดหรือยอกได้ อันเนื่องมาจากเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณคอเกิดการยืดมากเกินไปจนฉีกขาดทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมาได้

4.ภาวะข้อกระดูกคอเสื่อม อันเนื่องมาจากการแบกรับน้ำหนักมากมาเป็นเวลานานตั้งแต่เกิดจนถึงวัยชรา ทำให้กระดูกบริเวณคอมีความเสื่อมไปตามอายุ หรืออาจจะเกิดจากการมีกระดูกงอกที่ข้อต่อซึ่งไปกดทับปลายประสาทที่โผล่ออกมา

5.”อาการปวดคอ” อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ เช่น การถูกทำร้ายร่างกายบริเวณคอ การตกจากที่สูง อุบัติเหตุทางรถยนต์หรือจักรยานยนต์อย่างรุนแรง การถูกกระแทกด้วยของแข็ง

6.โรคข้ออักเสบเรื้อรังที่ทำให้กระดูกต้นคออักเสบไปด้วย เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์

วิธีการบรรเทาอาการปวดคอด้วยตนเองนั้น สามารถทำได้ดังนี้

1.หากเกิดจากการตกหมอน หรือการเอี้ยวคอเร็วเกินไปหรือผิดท่า ควรนอนพัก อย่าเคลื่อนไหวบริเวณคอ รับประทานยาแก้ปวด ประคบด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำแข็งบริเวณคอ หากปวดมากๆ อาจจะต้องใส่ปลอกคอเพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวของคอ ไม่นอนหนุนหมอนที่สูงเกินไป

2.ในกรณีที่มีอาการปวดเรื้อรัง แต่ปวดไม่มาก ก็ให้รับประทานยาแก้ปวด ประคบด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำแข็งบริเวณคอเช่นกัน การนวดหรือกดจุดโดยผู้เชี่ยวชาญก็สามารถช่วยได้ ฝึกบริหารกล้ามเนื้อคอ

การฝึกบริหารกล้ามเนื้อคอนั้น  โดยมีวิธีการบริหารง่ายๆ ดังนี้

การฝึกบริหารกล้ามเนื้อคอนั้น จะเป็นการป้องกันและรักษาสำหรับคนที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง อยู่ในท่าที่ถูกต้อง มีความยืดหยุ่น และสมดุล

1.นำมือประสานกันที่ท้ายทอย แล้วดันศรีษะไปด้านหลัง โดยออกแรงต้านกับมือทั้ง 2 ข้าง เกร็งไว้ แล้วนับ 1 – 10 แล้วปล่อย ทำสลับแบบนี้ประมาณ 10 ครั้ง

2.นำมือประสานที่หน้าผาก พยายามก้มศรีษะมาข้างหน้า โดยออกแรงต้านกับมือทั้ง 2 ข้าง เกร็งไว้ แล้วนับ 1 – 10 แล้วปล่อย ทำสลับแบบนี้ประมาณ 10 ครั้งเช่นกัน

3.เอียงศรีษะไปด้านซ้าย โดยใช้มือต้านไว้ไม่ให้ศรีษะเคลื่อนไหว และทำค้างไว้ นับ 1 – 10 แล้วปล่อย ทำประมาณ  10 ครั้ง แล้วสลับทำข้างขวาเช่นเดียวกัน

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดคอ ที่สามารถปฏิบัติได้มีดังนี้

1.การระมัดระวังในอิริยาบถที่เคลื่อนไหว การนั่ง การยืน การเดิน การนอน การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณคอ ไม่เอี้ยวคอเร็วและรุนแรงเกินไป

2.จัดหาที่นั่งให้เหมาะสม เมื่อต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์

3.เลือกเก้าอี้ที่เหมาะสม ไม่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป และควรมีพนักพิงหลัง

4.ไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานเกินไป ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง

5.เมื่อต้องยกของหนัก หรือเดินแบกของหนักเป็นเวลานาน ควรอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ

6.หาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมอื่นที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียดจนเกินไป

7.การฝึกบริหารกล้ามเนื้อคออยู่เสมอ

8.การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้เลือดไหลเวียนในร่างกายเป็นไปด้วยดี กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ แข็งแรงขึ้น รวมทั้งกระดูกก็มีภาวะความเสื่อมที่น้อยลงด้วย

9.สำหรับคนที่มีปัญหาทางด้านสายตา ควรหาแว่นสายตาที่เหมาะสมกับตนเอง

10.การใช้ยาให้เหมาะสมกับอาการ

อาการปวดคอ สามารถรักษาและบรรเทาจากอาการเจ็บปวดได้ เพียงแต่ต้องรักษาอย่างถูกต้อง เพราะคอเป็นส่วนที่เปราะบาง สำหรับในบางรายที่มีภาวะอาการหนักรุนแรง ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาจะดีที่สุด ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง เพราะอาจเกิดอันตรายได้

Citibank_Citi-Cashback-_ซิตี้แคชแบ็ก-2020.jpg