ทำความรู้จักโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

33

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

            ปัจจุบันพบว่าหนุ่มสาววัยทำงานตั้งแต่ช่วงอายุ 20 – 50 ปี มีอาการปวดหลังเรื้อรังกันมากขึ้น โดยมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน  หรืออยู่ในท่าทางอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งเกิดจากการได้รับแรงกระแทก การยกของหนัก หรืออุบัติเหตุด้วยซึ่งหากมีอการปวดหลังเรื้อรั้งมากกว่า 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูกนั่นเอง

หมอนรองกระดูกคืออะไร

          หมอนรองกระดูก คือ อวัยวะที่ช่วยคั่นกลางรอยต่อระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละคู่ โดยมีลักษณะยืดหยุ่นเพื่อช่วยให้สันหลังเคลื่อนไหวได้ และภายในกระดูกสันหลังก็จะมีไขสันหลังและเส้นประสาทมากมายที่แยกแขนงไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นหมอนรองกระดูกจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญที่ไม่ควรถูกละเลย หากมีอาการใดๆ เกิดขึ้น

คนที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนี้จะมีอาการปวดหลังตั้งแต่บั้นเอวหรือกระเบนเหน็บ และมีอาการปวดร้าวลงไปที่ต้นขา น่อง ของขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ไปจนถึงบริเวณเท้าและนิ้วเท้าด้วย มักเกิดอาการปวดที่อยู่ในลักษณะท่านั่ง หรือเมื่อมีการนั่งงอตัวไปทางด้านหน้าซึ่งเป็นท่าที่หมอนรองกระดูกได้รับแรงกดทับมากที่สุดและมีอาการชาที่ขา

หากปล่อยทิ้งไว้นานจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ขาด้วยซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจว่าจะมีเพียงอาการปวดที่หลังอย่างเดียวเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วจะต้องมีอาการปวดลงไปที่ขาด้วย เพราะหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมาจะทำให้เกิดอาการปวดอย่างฉับพลันและมีอาการอักเสบอย่างรุนแรง

ทั้งนี้อาการของคนที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกนี้จะมีอาการปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการกดทับที่เส้นประสาทว่ากดทับมากหรือน้อย หากทิ้งไว้นานๆ จนเส้นประสาททำงานได้น้อยลง กล้ามเนื้อที่ขาอ่อนแรงลง จนถึงขั้นที่ไม่สามารถควบคุมการเดินหรือการขับถ่ายได้ อาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์หรือัมพาตได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทนี้ มีดังนี้

1.การที่ยกของหนักด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องบ่อยๆ

2.ยกของที่หนักเกินไปเป็นระยะเวลานาน

3.การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

4.การนั่งทำงานด้วยท่าทางและอิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเป็นระยะเวลานานๆโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ

5.เกิดจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บที่มีผลกระทบต่อกระดูกสันหลัง

6.การถูกกระแทกอย่างรุนแรงที่กระดูกสันหลัง

จากอาการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่า การสังเกตว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทหรือไม่อย่างไรนั้น สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เลย และหากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน อย่าปล่อยทิ้งไว้นานเพราะอาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ ซึ่งจะทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้ชีวิตและการทำงานไปมากมาย จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลย เพียงเพราะคิดว่าเป็นอาการปวดหลังธรรมดา เดี๋ยวก็หาย ซึ่งจะกลายเป็นความคิดและความเชื่อผิดๆ ไป จนสายเกินเยียวยา

ดังนั้นจะขอจำแนกความแตกต่างระหว่างอาการปวดหลังที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท กับที่ไม่ใช่เป็นโรคนี้ไว้ให้เข้าใจ เพราะอาจมีอาการที่คล้ายกัน ดังต่อไปนี้

อาการปวดหลังที่คล้ายกัน แต่ไม่ใช่เป็นโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท  ได้แก่
  1. โรคปวดยอกที่กล้ามเนื้อหลัง ที่เกิดจากการนั่ง นอน หรือยกของผิดท่า จนทำให้มีอาการปวดยอกที่กล้ามเนื้อหลังเท่านั้น โดยไม่มีอาการปวดร้าวลงไปที่ขา ซึ่งสามารถบรรเทาอาการด้วยการประคบด้วยความร้อนก็สามารถหายจากอาการยอกได้ หรืออาจรับประทานยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วยก็ได้
  2. อาการปวดหลังที่เกิดจากการที่กระดูกสันหลังเสื่อม โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีอาการปวดหลังบ่อยๆทำให้ก้มหรือเอี้ยวตัวได้ลำบาก หรืออาจมีอาการปวดขัดในข้อเข่าด้วย และในบางรายที่หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมและมีการเคลื่อนไปกดทับถูกรากประสาท ก็อาจมีอาการปวดร้าวลงไปที่ขาร่วมด้วยเช่นกัน
  3. อาการปวดหลังอันเกิดมาจากการมีเนื้องอกของไขสันหลัง โดยโรคนี้จะทำให้มีอาการปวดหลัง จนกระทั่งปวดร้าวลงไปที่ขาแบบเดียวกับหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปทับเส้นประสาท แต่มักจะพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยจะมีอาการปวดที่เรื้อรัง จนกระทั่งต่อมามีภาวะอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา และมีอาการค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นอัมพาต โดยบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ส่งผลให้น้ำหนักลดลงร่วมด้วย

          จะเห็นได้ว่า หมอนรองกระดูกของคนเรานั้นเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก หากเกิดอะไรขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม การป้องกันและการดูแลให้หมอนรองกระดูกของเรานั้นไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเลยทีเดียว หากเรารู้วิธีป้องกันและดูแลตัวเองเพื่อลดภาวะความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้ เราก็จะไม่เจ็บปวดต่อการเป็นโรคนี้เลย

Citibank_Citi-Cashback-_ซิตี้แคชแบ็ก-2020.jpg