อาการปวดเอว สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

41
1128494597

อาการปวดเอว สัญญาณแบบไหน อาจเสี่ยงโรคไต

           เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีอาการปวดบริเวณเอว ซึ่งอาการปวดเอวนั้นอาจมีสาเหตุเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดมาจากที่บริเวณไต ไม่ใช่บริเวณไต และเกิดจากสาเหตุอื่นๆ แต่ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงอันตรายที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราทั้งสิ้น ซึ่งการรักษาก็จะมีวิธีการแตกต่างกันไปตามสาเหตุอาการปวดนั้นๆ ยิ่งมีอาการเรื้อรั้งควรปรึกษาแพทย์โดยทันที เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้

อาการปวดเอวนั้นอาจจะมีอาการปวดๆ หายๆ เป็นระยะๆ ปวดตุบๆ ปวดเหมือนโดนบีบ หรือปวดเหมือนโดนมีดกรีดแทง และหากมีอาการปวดเอวที่มีสาเหตุมาจากไต อาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการเจ็บเวลาปัสสาวะ มีเลือดปนออกมาขณะปัสสาวะ เป็นไข้ เวียนศีรษะ อาเจียน เป็นผื่น ท้องร่วง ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดลามไปถึงอวัยวะสืบพันธุ์ หากเกิดอาการเหล่านี้และมีอาการแย่ลงเรื่อยๆ เป็นเวลานาน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อรักษาให้ทันท่วงที

ในบางรายอาจเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นมาถึงขั้นช็อคเป็นอันตรายได้ อันเนื่องมาจากสาเหตุของภาวะการขาดน้ำหรือสูญเสียน้ำมากเกินไป ทำให้อวัยวะ เซลล์ และเนื้อเยื่อต่างๆ ภายในร่างกายทำงานแย่ลงหรือล้มเหลว ซึ่งสังเกตได้จากการที่ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะมีสีเข้มขึ้น ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว หากเกิดอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ขึ้นมาควรได้รับการรักษาให้ทันเวลา เพื่อไม่ให้ลุกลามจนรักษาได้ยากขึ้น

สาเหตุของอาการปวดเอวนั้น ทางการแพทย์ได้แบ่งออกเป็น 3 สาเหตุ ดังนี้

1.อาการปวดที่เกิดจากบริเวณเนื้อไต เกิดจากเนื้อเยื่อไตอักเสบหรือขาดเลือด โดยเนื้อเยื่อมีขนาดโตขึ้นจากการบวมน้ำ หรือเนื้อเยื่อมีภาวะเลือดออก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดไตและส่งผลให้เกิดอาการปวดเอวได้ โดยปัญหาเหล่านั้นที่มีสาเหตุมาจากไต ได้แก่ กรวยไตอักเสบ ฝีที่ไต ภาวะไตขาดเลือด ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และเนื้องอกที่ไต

2.อาการปวดที่ไม่ได้เกิดจากบริเวณเนื้อไต เกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น การเกิดนิ่วในไต ทำให้ท่อไตอุดตัน ส่งผลให้ท่อไตส่วนต้นขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดเอวบีบเกร็งเป็นระยะๆ และมักเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย เวลาปัสสาวะอาจมีเลือดปนหรือตะกอนนิ่วออกมาด้วย นอกจากนี้อาการปวดเอวอาจมีสาเหตุมาจากทางเดินปัสสาวะตีบแคบ หรือเกิดจากกระเพาะปัสสาวะส่วนคออุดตัน ซึ่งเกิดจากท่อไตและไตเก็บน้ำปัสสาวะไว้มากเกินไป ทำให้ กระเพาะปัสสาวะขยายใหญ่ขึ้น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ จึงทำให้เกิดอาการปวดเอวขึ้นได้

3.อาการปวดเอวที่เกิดมาจากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ เกิดจากการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการยกของหนักๆ หรือใช้กล้ามเนื้อมากๆ เป็นเวลานาน หรือมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บเส้นประสาท ซึ่งเกิดจากการที่รากประสาทตรงกระดูกสันหลังอกส่วนบนหรือกระดูกอกส่วนล่างได้รับบาดเจ็บก็ทำให้เกิดอาการปวดเอวได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากสาเหตุของการติดเชื้อที่อวัยวะภายในช่องท้อง หรือโรคเกี่ยวกับทรวงอก เช่น วัณโรค ปอดปวม ภูมิแพ้ตัวเอง ลิ่มเลือดอุดกั้นบริเวณปอด โดยจะมีอาการเหมือนถูกมีดกรีดแทงบริเวณอกและเอว

จากสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ที่ทำให้เกิดอาการปวดเอวขึ้นนั้น สิ่งที่ควรสังเกตดูเมื่อเกิดอาการขึ้น ได้แก่ ตำแหน่งที่ปวด ลักษณะอาการปวด ความถี่ในการปวด ระยะเวลาในการปวด รวมทั้งอาการอื่นๆ ที่ร่วมด้วย เพื่อให้การรักษานั้นแพทย์สามารถดำเนินไปได้อย่างถูกต้องและถูกอาการของโรคที่เกิดขึ้น ซึ่งแพทย์ก็จะหาสาเหตุของโรคด้วยจากการตรวจเลือด ภาพสแกนจากการอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์ การส่องกล้อง และการตรวจปัสสาวะ เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคต่อไป

สำหรับการรักษาอาการปวดเอวนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวดเอว หากเกิดขึ้นที่บริเวณเนื้อไต เช่น ฝีที่ไต หรือไม่ใช่บริเวณที่เป็นเนื้อไต เช่น นิ่วในไต หรือแม้กระทั่งเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคที่เกิดบริเวณทรวงอก อย่างวัณโรค ปอดปวม ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้ทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป แต่ถ้าเกิดจากการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อบริเวณเอว ก็ควรดูแลตนเองโดยการพักผ่อนให้มาก หมั่นทำกายภาพบำบัด และออกกำลังกายอย่างถูกต้องควบคู่ไปด้วย ก็จะช่วยลด”อาการปวดเอว”ลงไปได้ หรือหากอาการยังไม่ดีขึ้น การไปพบแพทย์จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษา

จากที่ได้กล่าวมานี้อาการปวดเอว หากเกิดขึ้นกับใครก็ตาม อาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ หรือเป็นเรื่องที่ควรละเลยได้เลย แต่เป็นเรื่องที่ควรให้ความใส่ใจอย่างยิ่ง เพราะการได้รับการรักษาทันทีจะทำให้ไม่ต้องเสี่ยงกับโรคแทรกซ้อนหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเพราะความชะล่าใจ อาการปวดเอวจึงเป็นสัญญาณอันตรายซึ่งอาจหมายถึงชีวิตที่อาจต้องเสียไปก่อนวัยอันควรก็เป็นได้

          ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดเอวขึ้นได้นั้นก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ เพียง ดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ระบบการทำงานของไตทำงานอย่างเป็นปกติ การจำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ยกของหนักหรือออกแรงใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป รวมทั้งการหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อให้ร่างกายของเราแข็งแรงปลอดจากโรคอันเป็นสาเหตุของอาการปวดเอวนั่นเอง

Citibank_Citi-Cashback-_ซิตี้แคชแบ็ก-2020.jpg