อาการปวดคอ เสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

622
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

สัญญาณเสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม 

หากคุณมีอาการปวดคอบ่อยๆ จนผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมก็เป็นได้ หลายครั้งทีเดียวที่เรามีการเคลื่อนไหวในส่วนคอที่อาจเป็นการทำร้ายตัวเองอย่างไม่รู้ตัว โดยการมีพฤติกรรมเดิมๆที่ทำซ้ำบ่อยๆจนเป็นนิสัย เป็นเหตุให้เราต้องมีความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยหรือต้องเข้ารับการรักษา โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม เป็นอีกโรคหนึ่งที่เราควรรู้จัก  เพื่อหาทางระวังรักษาหรือหาทางบรรเทาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น ก่อนที่อาการจะลุกลามจนยากที่จะรักษา

กระดูกคอมีความสำคัญคือทำให้ศีรษะของเรานั้นสามารถเคลื่อนไหวไปในทุกทิศทุกทางเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆกันใน เช่น การหันศีรษะไปทางซ้ายหรือขวา การก้ม เงย แหงน หรือเอียงศีรษะ เหตุที่ศีรษะของเรานั้นเคลื่อนไหวได้เช่นนี้เป็นเพราะหมอนรองกระดูก ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกสันหลังส่วนคอมีความยืดหยุ่นจึงทำให้คอของเรานั้นมีความยืดหดหรือเคลื่อนไหวไปในหลายทิศทางนอกจากนี้กระดูกคอยังต้องแบกรับน้ำหนักศีรษะอยู่ตลอดเวลา ภายในกระดูกคอจะมีประสาทไขสันหลังอยู่ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ไปทำให้เกิดการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของแขนและขา

อาการบ่งบอกถึงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

  • อาการปวดที่คอ: ปวดคอ บ่า หรือไหล่แบบเรื้อรัง และบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปจนถึงบริเวณท้ายทอย
  • อาการปวดที่แขน:ผู้ป่วยจะแสดงอาการ 3 แบบ คือ อาการปวด ชา หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ อาการเหล่านี้เกิดจากการที่เส้นประสาทสันหลังส่วนคอถูกรบกวน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหรือชา ตั้งแต่แขน ข้อศอก จนถึงนิ้วมือได้ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อก็เกิดจากกล้ามเนื้อมัดที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทถูกกดทับคล้ายกับอาการปวดและชา
  • อาการปวดที่ขา: ตามปกติหากมีการกดทับของไขสันหลังมักไม่แสดงอาการปวด แต่อาการจะปรากฏให้เห็นจากท่าทางการเดินที่ผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยจะมีอาการขาตึงๆ เดินเหมือนจะล้ม เดินก้าวสั้น เดินช้าเหมือนหุ่นยนต์ หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบรับการรักษา เพราะถ้าเป็นมากอาจทำให้กล้ามเนื้อลีบจนไม่สามารถเดินได้

สาเหตุของการเกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

1.มีการเคลื่อนไหวที่บริเวณลำคอบ่อยจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการก้มคอ เงยคอ เอียงคอ หรือสะบัดคอเป็นประจำ

2.มีการนั่งทำงานด้วยท่าที่ไม่ถูกต้องนานเกินไป เช่น นั่งก้มคอมากเกินไป

3.กระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

แนวทางการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

การรักษาทางยาและทำกายภาพบำบัด พยายามไม่ให้กระดูกคอเคลื่อนไหวบ่อยเกินไป มีการให้ยาแก้ปวดลดการอักเสบ อาจจะต้องให้นอนพักหรือมีการถ่วงดึงคอ บริหารกล้ามเนื้อคอให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ เพราะกล้ามเนื้อคอจะช่วยแบกรับน้ำหนักศีรษะไม่ให้กระดูกคอต้องทำงานหนักมากเกินไป บางรายอาจจะให้ใส่เครื่องพยุงคอ เพื่ิอช่วยเตือนให้คออยู่ในลักษณะปกติ

การนอน ควรให้กระดูกคออยู่ในท่าที่ถูกต้อง  และควรเลือกหมอนที่มีความเหมาะสมให้กระดูกคออยู่ในลักษณะปกติ  เลือกหมอนนิ่มๆที่มีส่วนรองรับคอ  เมื่อกระดูกคอมีการเสื่อมลงมากและเกิดการกดทับเส้นประสาท หรือกดทับเส้น  ประสาทไขสันหลังแล้ว การใช้ยาในการรักษา และการทำกายภาพบำบัดจะช่วยอะไรไม่ได้ ต้องรักษาโดยการผ่าตัด

การป้องกันเพื่อไม่ให้หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมเร็วเกินไป

  1.  ไม่บิดคอ หมุนคอหรือสะบัดคอบ่อยจนเกินไป
  2.  การนั่งทำงาน หรือนั่งทำกิจกรรมต่างๆ ไมควรก้มคอมากเกินไป ควรให้คออยู่ในลักษณะตรงปกติ
  3.  การนอนควรเลือกใช้หมอนที่มีส่วนรองรับกระดูกคอให้อยู่ในลักษณะปกติ
  4.  หมั่นบริหารกล้ามเนื้อคอให้มีความแข็งแรงอยู่เป็นประจำ
  5.  ไม่ควรแหงนคอนานๆอยู่บ่อยๆ
  6.  ไม่ควรใช้รักษาโดยวิธีการดัดคอหรือบิดหมุนคอ

   ***วิธีบรรเทาอาการปวดจากโรคหมอนรองกระดูกสันหล้งส่วนคอเสื่อม อย่างหนึ่งก็คือ  การเลือกหมอน  เพราะหากเลือกหมอนที่เตี้ยนุ่มเกินไป หรือสูงแข็งเกินไป ก็อาจทำให้ไปเพิ่มความเจ็บปวดมากขึ้น  หมอนที่ดีควรมีความสูงประมาณ 4-6 นิ้ว มีความนุ่มสบาย รองรับได้ตั้งแต่คอจนถึงศีรษะ และมีส่วนที่จะช่วยให้รูปกระดูกเป็นไปตามธรรมชาติ  ท่านอนก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงควรเลือกหมอนให้สอดรับกับท่านอนของแต่ละคนที่ต่างกัน

     หวังว่าทุกท่านจะนำความรู้ที่ได้รับไปพิจารณาและปรับใช้กับตัวท่าน  เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของตัวท่านเอง ความสุขอย่างหนึ่งในชีวิตเราก็คือการได้หลับนอนอย่างเป็นสุข  และสิ่งที่จะช่วยให้ท่านหลับอย่างเป็นสุขอย่างหนึ่งก็คือหมอน  การเลือกหมอนอย่างเหมาะสมที่ปรับให้เข้ากับท่านอนของแต่ละท่านมีส่วนช่วยให้ร่างกายอยู่ในสภาพปกติเวลานอน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมด้วย

Citibank_Citi-Cashback-_ซิตี้แคชแบ็ก-2020.jpg