โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคยอดฮิตของคนยุคใหม่

1069
อาการหมอนรองกระดูกทับเส้น

   โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทโรคที่ใครๆก็เป็นได้

        “อโรคยา  ปรมาลาภา  การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”  เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ทุกยุคทุกสมัย แต่จะมีสักกี่คนที่โชคดีไม่ประสบกับภาวะของความไม่มีโรคนี้ได้ ยิ่งในปัจจุบันผู้คนต่างต้องก้มหน้าก้มตาทำมาหากินโดยเครื่องคอมพิวเตอร์  โทรศัพท์มือถือ  แท็ปเลต  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลต่อคนทุกระดับชั้น  ทุกวัย  ทุกฐานะในสังคมโดยไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้  และด้วยอาการเสพติดเหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดโรคที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในวัยเด็ก  หนุ่มสาว  หรือแม้แต่วัยทำงานก่อนเวลาอันควร  โรคดังกล่าวนี้คือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท นั่นเอง

          ซึ่งแต่ก่อนโรคนี้จะพบเจอในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป  ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง  ผู้ป่วยที่หกล้ม  หรือผู้ป่วยที่ยกของหนักเกินกำลังของตนเอง  แต่ในปัจจุบันโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมักพบในกลุ่มคนที่จับเจ่าอยู่กับการเป็นสมาชิกของ   “สังคมก้มหน้า”  ที่วันๆมัวแต่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับเทคโนโลยีในมือและนั่งอยู่ท่าเดิมอย่างนั้นนานเกินไป  จนร่างกายทนไม่ไหวและเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในที่สุด

         การเป็น”โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”จึงกลายมาเป็นโรคท็อปฮิตโรคใหม่สำหรับหนุ่มสาวและคนทำงานในยุคนี้อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธมันไปได้  โดยอาการของโรคนี้สามารถสังเกตได้ง่ายๆคือผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเป็นระยะเวลาเรื้อรังยาวนาน  ไม่ว่าจะกินยา  ทายา  นวดด้วยยา  ประคบร้อน  ประคบเย็น  หรือไปหาหมอนวดแผนไทยเพื่อนวดคลายความเจ็บปวดแล้วก็ยังมีอาการปวดคงอยู่  เป็นการปวดแบบหนึบๆร้าวลึกๆลงไปภายในส่วนบริเวณหลังของร่างกาย  และอาการปวดเหล่านี้จะไม่มีการบรรเทาลงแต่ยิ่งทิ้งระยะเวลายาวนานไปมากขึ้นเท่าไหร่  ก็จะมีอาการปวดมากขึ้นและลึกลงไปเรื่อยๆ

อาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แบ่งได้ 2 ลักษณะดังนี้

     1.อาการปวดบริเวณหลัง

โดยเฉพาะอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างบริเวณข้อต่อ L3 L4 L5 S1 ซึ่งอาการปวดจากการกดทับเส้นประสาทในส่วนนี้จะชาและร้าวจากสะโพกลงไปที่ขาและเท้า   หรือในทางกลับกันคือปวดร้าวจากที่เท้าขึ้นมาที่ขาแล้วลามไปที่สะโพก  โดยจะเจ็บร้าวลงขานี้จะเกิดกับขาข้างใดข้างหนึ่งไม่ใช่ทั้งสองข้าง   ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดเป็นอย่างมาก  ส่วนใหญ่จะรู้สึกเจ็บปวดในบริเวณหลังส่วนล่างร่วมด้วย   ซึ่งอาการเจ็บปวดเหล่านี้จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก  ในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการเจ็บเป็นอย่างมากที่บริเวณฝ่าเท้าและจะยิ่งเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อต้องเดินลงน้ำหนักในเท้าข้างนั้นๆ

     2.อาการปวดบริเวณคอ

          อาการปวดในบริเวณคอของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท นี้  เกิดขึ้นจากการที่กระดูกบริเวณข้อต่อ C3 – C7 ซึ่งเป็นแนวกระดูกที่เกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทส่วนแขนกดทับเส้นประสาทในบริเวณนี้ จึงทำให้เกิดอาการชาบริเวณฝ่ามือ  โดยอาการชานั้นจะเริ่มจากปลายนิ้วหรือผู้ป่วยอาจมีอาการปวดร้าวที่บริเวณแขนก็ได้ โดยอาการปวดหรือชานี้อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่ง และจะมีอาการร่วมของโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทนี้ด้วยการที่ผู้ป่วยจะมีอาการของการปวดคอ   รวมไปถึงอาการปวดเมื่อยบริเวณสะบักแบบเรื้อรัง  และเคลื่อนไหวคอลำบากด้วย  โดยอาการปวดในสองลักษณะนี้สามารถเกิดกับผู้ป่วยคนเดียวกันได้  ซึ่งจะทวีความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยมากขึ้นอีกหลายเท่าทวีคูณ

            วิธีการรักษาภาวะโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนี้ต้องอยู่ในการควบคุมดุแลของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ  แพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู รวมไปถึงพยาบาลและนักกายภาพบำบัด  ผู้ป่วยไม่ควรที่จะเลือกกินยาเพื่อกดอาการเจ็บปวดเพียงอย่างเดียว  และไม่ควรหลีกเลี่ยงที่จะพบแพทย์เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้อาการจะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น  และอาจถึงขั้นที่ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีกต่อไปกลายเป็นผู้ทุพพลภาพได้

          ดังนั้นเมื่อรู้ว่าร่างกายมีอาการเจ็บปวดจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา  และปฏิบัติตัวตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด  โดยหากไม่สะดวกในการไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล  คุณอาจเลือกซื้อเครื่องมือเพื่อดึงกระดูกมาใช้เองที่บ้านก็ได้  แต่ต้องศึกษาวิธีใช้ให้ดี  และต้องไม่ลืมสอบถามผู้เชี่ยวชาญถึงวิธีการใช้อย่างเหมาะสมและพบแพทย์ตามนัดด้วย

Citibank_Citi-Cashback-_ซิตี้แคชแบ็ก-2020.jpg